"งูใหญ่" เป็นสัญลักษณ์ ขณะที่บางตำราก็หมายถึง "พญานาค" และ "มังกร" ตามแต่ความเชื่อว่าจะให้สัตว์อะไรมาประจำนักษัตรนี้
สัตว์ ทั้ง 3 ชนิดนี้มีความเชื่อมโยงกันพอสมควร "กรหริศ บัวสรวง" โหรชื่อดังแห่งหนังสือศาสตร์แห่งโหร อธิบายถึงความเชื่อมโยงของสัตว์ประจำนักษัตร ปีมะโรง หมายถึงพญานาค หรือพญานาคราช การที่เราไปเรียกว่างูใหญ่นั้นไม่ถูกต้อง
คนส่วนใหญ่ มักจะเอามะโรงไปเปรียบเทียบกับมะเส็งที่เป็นงูเล็ก ดังนั้น มะโรงจึงเพี้ยนกลายเป็นงูใหญ่ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ต้องเข้าใจให้ถูกว่า มะโรง คือพญานาค
ส่วนที่ใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ นั้น ก็เพราะเป็นความเชื่อของชาวจีน ซึ่งไม่เกี่ยวกับชาวไทย อย่างไรก็ดี ทั้งความเชื่อของชาวไทยและชาวจีน หรือว่าชาติไหน ๆ ต่างก็มีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะสัตว์ทั้ง 2 ชนิด ต่างก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน
"พญานาคและมังกรต่างก็อยู่ในน้ำ และด้วยความที่ปีมะโรงตรงกับธาตุไฟ จึงทำให้สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้พ่นไฟได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งในทางเทววิทยา ต่างก็ยกให้พญานาคและมังกรเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์ด้วยกันทั้งคู่ สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก"
ผู้ที่จะอธิบายเรื่องปีนักษัตรได้ อย่างละเอียดลอออีกท่านหนึ่ง คือ นายสมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่ได้รวบรวมความรู้และที่มาของสัญลักษณ์ประจำปีนักษัตรได้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ เรื่อง "สิบสองนักษัตร"
ตำนานของ การใช้สัตว์เป็นชื่อปี เป็นเรื่องที่หาหลักฐานได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะนอกจากจะได้กำหนดเป็นชื่อปีแล้ว ยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับคนที่เกิดในแต่ละปีเหล่านี้อีกด้วย
เรื่อง สิบสองนักษัตร เป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นานมาก มีมาก่อนจุลศักราช แต่จะมีเมื่อไรไม่ทราบได้ ถ้าดูหลักฐานของไทย เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกล่าวถึง "๑๒๑๔ สกปีมะโรง" ดังนั้น ก็หมายความว่า เมื่อ พ.ศ.1835 ไทยก็ใช้ปีนักษัตรแล้ว ความจริงคงจะใช้มาก่อนนี้ช้านาน หากไม่มีหลักฐานที่จะอ้างได้เท่านั้น
ใน หนังสือพงศาวดารใหญ่ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ในนามสัตว์ 12 นักษัตรข้างไทยสยามนั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์สาขาปี มาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่เล่าเมื่อคำนวณกาลจักรมณฑลก็ไพล่ไปเลียนนามปีและนามองคสังหรณ์ อย่างไทยลาว หาใช้นามปีของตนเองไม่ และไทยลาวน่าจะถ่ายมาจากจีนอันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไร จึงหาตรงกันแท้ไม่เป็น แต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน"
สำหรับกลุ่มประเทศที่ใช้สิบสองนักษัตรนั้นมีในกลุ่มเอเชียเท่านั้น
โดยมากอยู่ใกล้ หรือมีความสัมพันธ์กับไทย เช่น จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี เขมร ลาว ทิเบต ไทยใหญ่
บาง ท่านให้ความเห็นว่า การที่ใช้สิบสองนักษัตรนั้นไม่ใช่อะไรอื่น เป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นพี่น้องเผ่าไทย หรือสืบสายมาจากที่เดียวกันนั่นเอง
ส.พลายน้อยได้เล่าถึงที่มาของ ชื่อปีมะโรง ที่มี "งูใหญ่" เป็นสัญลักษณ์ ว่า งูใหญ่ของไทย ก็คือพญานาค หรือที่ไทยพายัพเรียกว่าปีสี หรือเปิ้งนาค ตรงกับปีนักษัตรของจีน คือ มังกร ซึ่งในภาษาจีนหลวงเรียกว่าหล่ง กวางตุ้งเรียกหลุ่ง ฮกเกี้ยนเรียกเหล็ง แต้จิ๋วเรียกเล้ง จีนแคะเรียกลิอุ๋ง ญวนเรียกกองร่อง
สันนิษฐานกันว่า คำมะโรง น่าจะมาจากหล่งหลุ่งเหล็งเล้งของจีนก็ได้
พญา นาค หรืองูใหญ่ของไทย และมังกรของจีน เป็นสัตว์ในนิยาย ที่มีฤทธิ์อำนาจเหมือน ๆ กัน นิยายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ทั้งสองนี้ก็มีคล้าย ๆ กัน
ยกตัวอย่าง พญานาค หรืองูใหญ่ เป็นเจ้าแห่งงู อยู่ในบาดาล คือใต้พื้นดิน ตัวยาวอย่างงู มีหงอนงามมาก พญานาคกับมนุษย์มีเรื่องเกี่ยวข้องกันมาแต่โบราณ ตามพงศาวดารจะมีเรื่องพญานาคและลูกสาวพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
พญา นาคเป็นสัตว์วิเศษ ที่สามารถจะแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้อย่างสวยงาม ตามพงศาวดารของไทยก็มีเรื่องเล่ามาในประวัติพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก กล่าวว่า
เมื่อพุทธศักราชได้ 500 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 86 ปีกุน พระยาอภัยคามินีศีลาจารย์บริสุทธิ์ อยู่ในเมืองหริภุญไชยนคร ออกไปจำศีลอยู่ในเขาใหญ่เป็นนิจ ทำให้ร้อนถึงอาสน์นางนาคจนทนอยู่มิได้ ก็ขึ้นมาในภูเขาใหญ่นั้น ได้พบพระยาอยู่จำศีล เธอก็มาเสพเมถุนด้วยนางนาค
นาง นาคอยู่ได้เจ็ดวันแล้วจะลาไป พระยาจึงให้ผ้ารัตตกัมพล และพระธำมรงค์แก่นางนาคไว้ชมต่างพระองค์ นางนาคก็กลับลงไป พระยาก็กลับเข้ามาเมืองดังกล่าว แลนางนาคก็มีครรภ์แก่ แลนางนาคก็ว่าลูกตูนี้มิใช่เป็นไข่ จะเป็นมนุษย์ทีเดียว ซึ่งจะคลอดในเมืองนาคมิได้
เมื่อคิดดังนั้นแล้วก็ขึ้นมาถึงภูเขาที่ อาสนะแห่งพระยานั้น ก็ประสูติกุมาร ผ้าแลแหวนนั้น นางวางไว้ข้าง ๆ ลูก แล้วก็หนีกลับลงไปเมืองนาค
ครั้งนั้นมีพรานพเนจรคนหนึ่งออกไปหาเนื้อ ในป่า ได้ยินเสียงกุมารร้องไห้ แลพรานเข้าไปก็เห็นกุมาร จึงคิดว่าเด็กน้อยนี้คงเป็นลูกท้าวหลานพระยาเป็นแน่ เมื่อเห็นตนมา เกิดความกลัว จึงละทิ้งเด็กน้อยนี้แล้วหนีไป พรานจึงเอากุมารนั้นไปให้ภรรยาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม
เมื่อสมเด็จ พระเจ้าอภัยคามินีราชใช้ให้เสนาอำมาตย์สร้างพระมหาปราสาท จึงให้เกณฑ์ชาวบ้านมาถากไม้ จึงเอากุมารนั้นเข้ามาไว้ด้วย ครั้นเมื่อเห็นแดดส่องต้องกุมาร ก็อุ้มกุมารเข้ามาไว้ในร่มพระมหาปราสาท และพระมหาปราสาทนั้นก็โอนเอนไปมาเป็นหลายครั้ง
พระยาเห็นก็หลากพระทัย จึงให้เอาพรานนั้นเข้ามาถามดู พรานจะปิดบังอำพรางมิได้ ก็บอกเล่าตามจริงว่า
มีคนเอาเด็กน้อยนี้ไปทิ้งไว้ในป่า ข้าพเจ้าเอามาเลี้ยงไว้เป็นลูก
พระยา จึงถามว่า มีอันใดอยู่ด้วยกุมารนั้นบ้าง พรานก็แจ้งว่า มีแหวนแลผ้าอยู่ด้วยกัน พระยาจึงให้พรานเอามาดู ก็รู้ว่าเป็นราชบุตรแห่งตน พระองค์จึงให้รางวัลแก่พรานนั้น แล้วพระองค์จึงให้หาชะแม่นมรับเอากุมารนั้นมาเลี้ยง แลพระราชทานชื่อกุมารนั้นว่า เจ้าอรุณราชกุมาร
ที่เล่าเรื่อง พงศาวดารโบราณที่เกี่ยวกับพญานาคมายืดยาว ก็เพื่อแสดงว่า ความเชื่อเรื่องพญานาคได้มีมาช้านานแล้ว บางพวกบางเหล่าก็นับถือพญานาคว่าเป็นบรรพบุรุษและบรรพสตรี
ของตน
แม้ ในประวัติของขุนเจืองธรรมิกราชก็กล่าวว่า เมื่อเข้าไปขอของวิเศษกับปู่ย่าตายายในถ้ำ ก็เห็นงูหลวงตัวใหญ่มีเกล็ดอันเลื่อมเหลืองดังทอง ก็ขอเอาของวิเศษนั้นมา แสดงว่าปู่ย่าตายายเป็นงูใหญ่ ในหนังสืออุรังคธาตุกล่าวว่า ชื่อเมือง
ศรีสัตตนาค ก็มาจากนาคตัวหนึ่งมี 7 หัว และว่าเมืองจันทบุรีศรีสัตตนาคเป็นเมืองพญานาค
ใน หนังสือดังกล่าวได้เล่าถึงพญานาคต่าง ๆ ล้วนแต่มีอิทธิฤทธิ์ ถึงกับเคยสำแดงฤทธิ์กับพระพุทธเจ้า และได้พ่ายแพ้แก่พระองค์ พากันตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นาค 7 หัวที่ชื่อ
ศรีสัตตนาคได้ทูลขอ ให้พระศาสดาทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่ดอยนันทกังรี นอกจากนี้ พญานาคยังทำให้เกิดแม่น้ำใหญ่หลายสาย เช่นมีเรื่องเล่าว่า
ครั้งปฐม กัลป์มีนาค 2 ตัวอยู่ในหนองแส ทั้งสองเป็นมิตรสหายกัน มีอะไรก็ให้ก็แบ่งสู่กันกิน ตัวหนึ่งชื่อพินทโยนกวติ เป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งชื่อธนะมูลนาค เป็นใหญ่อยู่ท้ายหนอง กับหลานชื่อชีวายนาค นาคทั้งสองได้ตกลงกันว่า ถ้ามีสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งมาตกที่หัวหนองก็ดี ตกที่ท้ายหนองก็ดี จะต้องเอาเนื้อมาแบ่งกันกิน
ตามตำราพรหมชาติกล่าว ว่า คนเกิดปีมะโรง เป็นเทวดาผู้ชาย ธาตุทอง พระพฤหัสบดีเป็นปาก จึงเจรจาอ่อนหวาน เฉียบแหลม รู้หลักนักปราชญ์ เป็นที่ชอบใจผู้ใหญ่และสมณชีพราหมณ์ พระศุกร์กับพระอาทิตย์เป็นมือ ทำให้การงานไม่เรียบร้อย หยาบ
พระเสาร์เป็นใจ ทำให้เป็นคนใจแข็ง โกรธง่ายหายเร็ว แต่ซื่อตรงใจบุญ พระจันทร์และพระพุธเป็นเท้า ทำให้เป็นคนชอบเที่ยวชอบเดินทาง มิ่งขวัญอยู่ที่กอไผ่ หรือที่ต้นงิ้ว พระอังคารเป็นที่นั่ง ฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็มีความสุข
มีทรัพย์สินเงินทองมาก เป็นที่ชอบใจชายหญิง
ตาม คติความเชื่อของญี่ปุ่น ซึ่งเรียกปีมะโรงว่าปีทัตสุ ผู้ที่เกิดปีมะโรง นับว่าโชคดีที่สุด จะมีโอกาสได้ดี มั่งมีเงินทอง ก้าวหน้าจากระดับที่ต่ำขึ้นไปสู่ที่สูง แต่ก็อาจจะหล่นลงมาได้เหมือนกัน ตามความเชื่อของจีนก็ว่า คนเกิดปีมะโรง คือปีมังกร จะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ความดี เจรจาไพเราะ และอายุยืน เมื่อมีครบ 4 ประการเช่นนี้แล้ว ชีวิตก็น่าจะดำเนินไปด้วยดี
เขาว่าคู่ครองที่ดีที่สุดของคนปีมะโรง ก็คือคนปีวอก ก็เลือกเชื่อเอาตามอัธยาศัย เช่นเดียวกับเลือกเชื่อว่าจะเป็นมังกรหรือพญานาคนั่นเอง
อิลลา อิลลาช : เรื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น