วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คลังมหาสมบัติพญานาคราช พญาศรีสุทโธ เจ้าแห่งนครบาดาล เทพผู้สร้างปาฏิหาริย์บนพื้นพิภพ

" คลังมหาสมบัติพญานาคราช พญาศรีสุทโธ เจ้าแห่งนครบาดาล เทพผู้สร้างปาฏิหาริย์บนพื้นพิภพ "

เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์มีการกล่าวขานถึงนิทานปรัมปรา ที่ดูท่าน่าจะเป็นจริง เมื่อเราได้นึกถึง สถานที่ เหตุการณ์ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เล่ากันว่าเป็นพำนักของ พญาศรีสุทโธ เจ้าแห่งนครบาลผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น หนองแส, ธาตุหลวง หนองคันแท ส.ป.ป.ลาว, พรหมประกายโลก (คำชะโนด), หนองอ้อมเกาะ (อ้อมกอ), และ ภูผาเหล็ก ซึ่งล้วนแต่เล่าขานกันว่าเป็นทางผ่าน เป็นทีประทับของ พญาศรีสุทโธ และจะมีปรากฏปาฏิหาริย์ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนใกล้ชิด ตามตำนานที่เล่าขานกันมา 

มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อก่อน "หนองกระแส" ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศลาว เป็นเมืองที่พญานาราชครอบครองอยู่ โดยแบ่งหนองกระแสออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเขตครอบครองของ "สุทโธนาค" และอีกส่วนหนึ่งเป็นเขตปกครองของ "สุวรรณนาค" ซึ่งทั้งสองมีความรักใคร่กันมากไปมาหาสู่กันเป็นประจำ 

(หนองแส หรือ "หนองกระแส" ปัจจุบันอยู่ในเขตคุนหมิง ประเทศจีน ชาวจีนเรียกใหม่ว่า "ทะเลสาปเอ๋อไห่, และ "สุวรรณนาคราช" เป็นผู้สร้างเมืองหนองหาร (สกลนคร) - ผู้จัดทำเว็บตามรอยฯ : อธิบาย) 

ต่อมาสุทโธนาคได้มีอาหารเป็นเนื้อช้าง ซึ่งมีจำนวนมากมายเต็มลำเกวียนพร้อมขนหาง ซึ่งถือว่าเป็นมงคลมอบให้ไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจของสุวรรณนาคยิ่งนัก ครั้นต่อมาสุวรรณนาคมีอาหารเป็นเม่นซึ่งเป็นของอร่อย จึงแบ่งแล้วใช้เรียวไม้ร้อยเป็นพวง พร้อมกับขนเม่นให้เป็นของที่ระลึก ไปส่งให้สุทโธนาค 

เมื่อสุทโธนาคเห็นดังนั้นคิดว่า เนื้อช้างที่เราส่งให้ขนหางเล็กนิดเดียวยังได้เนื้อเต็มลำเกวียน นี่ขนเม่นโตขนาดนี้มีเนื้อให้พวงไม้ร้อยเดียว จึงทำให้เกิดความโกรธแค้นเป็นยิ่งนัก สุทโธนาคจึงนำไพร่พลทหารกรีฑาทัพท้ารบกับสุวรรณนาค และเกิดสงครามกันนานถึง 7 ปี ซึ่งต่างฝ่ายต้องการชัยชนะจากสงคราม และขับไล่ฝ่ายตรงข้ามออกจากหนองกระแส และจะทำการครอบครองหนองกระแสแต่ผู้เดียว 

การสู้รบของพญานาคทั้งสองทำให้พื้นพิภพสั่นสะเทือนไปทั่ว เกิดความเดือดร้อนไปจนถึงทั้งสามภพ คือ บาลดาล มนุษย์ และสวรรค์ เมื่อความทราบถึงพระอินทร์จึงได้เสด็จลงมายังมนุษยโลกเพื่อสอบสวน เมื่อทราบความแล้วจึงสั่งให้พญานาคทั้งสองเลิกสงครามหันมาแข่งขันกัน สร้างแม่น้ำออกจากหนองแส ไปจนถึงปากน้ำทะเล หากใครถึงก่อนเป็นผู้ชนะและให้ครอบครองแม่น้ำแห่งนั้น 

เมื่อรับคำบัญชาจากพระอินทร์แล้ว พญานาคราชทั้งสองจึงนำไพร่พลทำการขุดแม่น้ำออกจากหนองแสทันที สุวรรณนาคเป็นพญานาคราชที่มีความละเอียดอ่อน มีความเป็นระเบียบจึงสั่งให้ไพร่พลขุดแม่น้ำให้ตรง จึงทำให้ต้องใช้เวลานาน ในการขุดแม่น้ำและได้แม่น้ำไม่ยาวนัก 

จนทำให้แพ้ในการแข่งขัน จึงเรียกว่า “แม่น้ำนาน” และให้เป็นที่ครอบครองของสุวรรณนาคพร้อมบริวาร จึงได้ขนานนามว่า “แม่น้ำน่าน แห่งสุวรรณภูมิ” ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของสุวรรณนาค ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศไทย ในปัจจุบันและเราได้ขนานนามแผ่นดินแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” มาตราบเท่าทุกวันนี้

ฝ่ายสุทโธนาค เมื่อได้รับคำบัญชา จึงได้กรีฑาไพร่พลทำการขุดแม่น้ำออกจากหนองกระแสไปทางทิศตะวันออก ทันที่ เนื่องจากว่า "สุทโธนาค" เป็นพญานาคราชที่ใจร้อนและมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงสั่งให่ไพร่พลขุดแม่น้ำเมื่อมีภูเขาขวางหน้าก็สั่งให้ไพร่พลขุดไปตามซอกหินและภูเขาอย่างรีบเร่งทำให้เกิดความคดโค้ง บางที่มีความลึกมากบางแห่งที่เป็นภูเขาก็ขุดให้กว้าง ตามซอกถ้ำและหินผา จนทะลุถึงทะเลตามคำบัญชาของพระอินทร์ก่อนสุวรรณนาค

เมื่อสำเร็จจึงนำความกราบทูลต่อพระอินทร์ เพื่อวินิจฉัย พระอินทร์จึงทรงประกาศให้สุทโธนาคเป็นฝ่ายชนะ และให้แม่น้ำนี้ชื่อว่า “แม่น้ำโค้ง” และได้แผงมาเป็น “แม่น้ำโขง” จนปัจจุบัน โดยให้สุทโธนาคพาข้าทาสบริวารและไพร่พลอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ทรงอนุญาตให้เกิดมีปลาบึกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งแม่น้ำ และให้เป็นผู้ครอบครองนครบาดาลแต่เพียงผู้เดียว และได้ขนานนามว่า “พญาศรีสุทโธ” โดยอนุญาตให้มีประตูขึ้นสู่โลกมนุษย์ จำนวน 3 แห่ง คือ 

ที่ตั้งเมืองนครเวียงจันทร์ และเจ้าผู้ปกครองแห่งนครเวียงจันทร์ได้ก่อสร้าง พระธาตุหลวง ปิดทางขึ้นเอาไว้ในปัจจุบันที่ "หนองคันแท" ใน ส.ป.ป.ลาว และที่พรหมประกายโลก (คำชะโนด) พรหมประกายโลก

หมายถึงที่ที่เทวดาลักลอบลงมากินดินจนทำให้หมดอิทธิ์ฤทธิ์ กลายเป็นกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ (ภาษาพื้นบ้านโบราณเรียกว่า ผีบังบด) เป็นข้ารับใช้ให้กับพญานาคราชศรีสุทโธนาค และทรงอนุญาตให้ "พญาศรีสุทโธ" กลายร่างเป็นมนุษย์ได้ในวันข้างขึ้น 15 วัน และให้กลายร่างเป็นพญานาคราชในวันข้างแรม 15 วัน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


( คำว่า "หนองคันแท" คือสมัยนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จมาประทับที่ริมหนองนี้ ปัจจุบันคือ "พระธาตุหลวง" นั่นเอง - ผู้จัดทำเว็บตามรอยฯ : อธิบาย )



คลังมหาสมบัติพญานาคราช เส้นทางสู่คลังมหาสมบัติ


มีการเล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งพญานาคาราชศรีสุทโธ ได้รับบัญชาจากพระอินทร์ให้ขุดแม่น้ำแข่งขันกับสุวรรณนาค นั้น และจะประทานให้แม่น้ำที่ทำการขุดให้เป็นที่ครอบครอง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการขุดแม่น้ำโขง และได้รับประทานุญาตให้แม่น้ำโขง เป็นที่ครอบครองแล้วพญาศรีสุทโธ เจ้าแห่งนครบาดาลจึงได้ย้ายที่ประทับในพื้นที่ครอบครองเดิมที่หนองกระแส มายังแม่น้ำโขง

เนื่องจากพญาศรีสุทโธเป็นจอมนาคาที่มี ไพร่พล ข้าทาสบริวารมาก และทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลทั้งจากหนองกระแส และนครบาดาล เพื่อเป็นเตรียมพร้อมในการทำสงครามและหาสถานที่จัดเก็บมหาสมบัติซึ่งประกอบด้วย เหล็กไหลน้ำผึ้ง แก้วเสด็จ และเพชรพญานาค 

จึงได้สั่งให้ไพร่พลทำการขุดแม่น้ำออกจากแม่น้ำโขงลงมาทางด้านทิศใต้ บริเวณ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน ลัดเลาะไปตามช่องเขาผ่านที่ราบและภูเขาหลายแห่งลงไปทางด้านทิศใต้ ผ่านอำเภอบ้านแพง อำเภอบึงโขงหลง อำเภอเซกา อำเภอคำตะกล้า อำเภอบ้านม่วงในช่วงนี้แม่น้ำสงครามเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างจังหวัดสกลนครกับจังหวัดอุดรธานี 

เริ่มอำเภอบ้านม่วงและอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กับอำเภอบ้านดุง อำเภอทุ่งฝน อำเภอหนองหานไปจดภูผาเหล็ก ที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายส่วนปลายของเทือกเขาภูพาน และเป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนักและมีบริเวณกว้างและยาวมีอาณาเขตติดต่อกันระหว่าง อำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี และเพียงพอที่จะเก็บมหาสมบัติของพญานาคราชศรีสุทโธได้ และเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสงคราม

http://i216.photobucket.com/albums/cc135/seraindia/1376333_557525234301072_1865245577_n.jpg

บัลลังก์พญานาคราชศรีสุทโธ

ในช่วงเขตของ "อำเภอบ้านดุง" เป็นส่วนที่แม่น้ำสงครามใกล้กับพรหมประกายโลก (คำชะโนด) ซึ่งเป็นประตูเมืองจากนครบาดาลมายังโลกมนุษย์มากที่สุด เชื่อกันว่าพญานาคราชศรีสุทโธได้ใช้เป็นเส้นทางในการขนย้ายมหาสมบัติขึ้นจากนครบาดาล ไปยังคลังมหาสมบัติต้นแม่น้ำสงคราม ในการเดินทางขนย้ายมหาสมบัติของพญาศรีสุทโธ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งนักในปัจจุบัน 

เมื่อปรากฏว่ามีเกาะหินทรายที่มีรอยประทับของพญาศรีสุทโธลงบนหินทรายภายในเกาะ ซึ่งมีขนาดใหญ่น้อยแตกต่างกันไป และมีน้ำไหลล้อมรอบอยู่ระหว่างเส้นทางเดินจากพรหมประกายโลก (คำชะโนด)ไปยังแม่น้ำสงคราม 

และบริเวณเกาะกลางแอ่งน้ำนี้มีสภาพที่มีบ่อน้ำผุดขึ้นจากใต้ดินรอบบริเวณเกาะ คล้ายกับบ่อน้ำที่เรียกว่าเป็นประตูเมืองของนครบาดาลที่พรหมประกายโลก (คำชะโนด) หลายบ่อรอบบริเวณเกาะ และเป็นที่น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นอีกประตูหนึ่ง หรือหลาย ๆ ประตู ที่เป็นเส้นทางจากนครบาดาลสู่เมืองมนุษย์ 

1. บริเวณภายนอกเกาะทางด้านทิศเหนือ เป็นบ่อขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลออกมาตลอดปีและไหลแรงมาก ซึ่งเคยปรากกว่าน้ำจากบ่อนี้ไหลพุ่งขึ้นจากบ่อมีความสูง 2 – 3 เมตร และจะไหลลงไปยังร่องน้ำรอบเกาะ ปัจจุบันทางหมู่บ้านก่อสร้างท่อขนาดใหญ่เก็บกักน้ำและทำท่อส่งน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้าน

2. บ่อน้ำทางด้านทิศตะวันออก เป็นบ่อขนาดใหญ่ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ทำการบูรณะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร มีน้ำไหลออกมาตลอดปีอ้อมเกาะลงไปทางด้านทิศใต้

3. บ่อน้ำทางด้านทิศตะวันตก เป็นบ่อน้ำที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำภายนอกเกาะ มีน้ำไหลออกมาจากซอกหินภายในเกาะ ในปัจจุบันชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับบ่อน้ำที่คำชะโนด และจะนำน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ไปประกอบพิธีบวงสรวงเจ้าปู่หอคำ ทุกปี

4. เป็นบ่อน้ำขนาดเล็กทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งไหลออกมาจากซอกหินภายใต้ฐานเจดีย์โบราณ และเป็นที่ตั้งของใบเสมาหิน ทางด้านทิศใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีต้นตะเคียนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตรเกิดทับเอาไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อต้นตะเคียนโค่นล้มลง จึงปรากฏเห็นเป็นบ่อน้ำที่ไหลออกมาและมีใบเสมาหินทรายที่มีร่องรอยการตัดหินทรายทำเป็นใบเสมา

น้ำทั้งที่ผุดออกมาจากบ่อน้ำภายในเกาะทั้ง 4 แห่งจะไหลอ้อมเกาะลงมาทั้งทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ลงไปทางด้านทิศใต้ของเกาะและไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม

* หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น

กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (ข้อสอบ ข่าววิทยาศาสตร์ ทุนการศึกษา บทความ บทเรียน โครงงาน นิยาย blog webboard - วิชาการ.คอม) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา

จาก http://www.vcharkarn.com/blog/37237/7678

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น