วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เทคนิคการเข้าฌานในแต่ละขั้น

เทคนิคการเข้าฌานในแต่ละขั้น
จะให้เข้าฌานง่าย อย่าไปคิดเพิ่มวิตกวิจารครับ มันจะยิ่งเข้ายาก 
ให้มีวิตกคือตรึกนึกอย่างสบายๆ ถึงอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่เราถนัดอย่างต่อเนื่อง 
เช่นรู้ลมหายใจ ก็รู้ไปอย่างสบายๆ ธรรมดาๆ 
มีสติพอดีๆ อย่าให้แข็งเกินไปเพราะจิตจะกระด้างไม่เข้าฌาน 
อย่าให้อ่อนเกินไปเพราะจะเคลิ้ม 
หากประคองสติให้พอดีๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ในอารมณ์อันเดียวนั้น (เอกัคคตา) 
จนจิตเกิดวิจาร คือจิตเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์(เช่นลมหายใจ) โดยเราไม่ได้ตั้งใจ 
แต่จิตเขาเคล้าเคลียของเขาเองด้วยความคุ้นชินและพอใจ(มีฉันทะ) 
จิตจึงจะปรุงปีติสุขขึ้นมาครับ 
อันนี้บัญญัติเรียกว่าปฐมฌาน
เมื่อจิตเกิดปีติสุขแล้ว ให้เปลี่ยนสติมาระลึกรู้ปีติสุขที่เกิดขึ้นนั้น 
ทิ้งอาการเคล้าเคลียหรือตรึกนึกถึงอารมณ์เบื้องต้นที่ทำมา 
ทำความรู้ตัวขึ้นภายในอีกชั้นหนึ่งว่า แม้ปีติสุขก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ 
จิตผู้รู้อันเป็นธรรมอันเอกนั้น ดำรงอยู่ต่างหากจากปีติสุข 
อันนี้คือทุติยฌาน
ปีติอันเป็นของหยาบ หวือหวาก็จะดับไป 
จิตจะเหลือเพียงความสุขอันประณีตเป็นเครื่องระลึกของสติ 
ในขณะที่จิตรู้ความสุขนั้น ตัวจิตเองจะเป็นอุเบกขา หรือเป็นกลางต่อความสุขอีกชั้นหนึ่ง 
อันนี้คือตติยฌาน
แล้วจิตก็จะเห็นความสุขนั้นดับไป เหลือเพียงความว่างๆ ในจิตใจ 
จิตมีสติอันบริสุทธิ์ เป็นกลางวางเฉย รู้ความว่างนั้นอยู่ 
อันนี้คือจตุตถฌาน
หากมีอารมณ์แปลกปลอมแม้เพียงเล็กน้อยผ่านมา 
สติจะเห็นได้ชัดเจนถึงสิ่งแปลกปลอมนั้น 
เห็นเหมือนแขกที่จรมาจรไป เกิดแล้วดับไป 
ส่วนจิตผู้รู้ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายอารมณ์ คงทำตัวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ดีเท่านั้น
ฌาน 4 ที่พระพุทธเจ้าสอน จึงไม่ใช่ฌานเพื่อการเสพสุขอย่างเดียว(จะเสพก็ได้) 
แต่เป็นฌานที่เป็นไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะ 
เป็นไปเพื่อจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ พร้อมที่จะดำเนินวิปัสสนาต่อไป
โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น