นาค หรือ พญานาค มีลักษณะเป็นงูใหญ่ที่มีหงอน เมื่อกล่าวถึงพญานาคมักจะทำให้นึกถึงสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ และความมีอำนาจวาสนา อีกทั้งนาคยังใช้เป็นบันไดสายรุ้งที่มุ่งขึ้นสู่จักรวาลได้อีกด้วย
นาคเปรียบเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำหรือท้องฟ้า ซึ่งตำนานความเชื่อเรื่องพญานาคก็มีมาอย่างยาวนาน โดยอาจจะเก่าแก่กว่าพุทธศาสนาอีกด้วยซ้ำ โดยมีหลักฐานพบว่า พญานาคมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียตอนใต้ เนื่องจากภูมิประเทศของทางอินเดียตอนใต้ จะเป็นป่าเขาลำเนาไพรทำให้มีงูอยู่ชุกชุม อีกทั้งงูก็มีพิษที่รุนแรงร้ายกาจ ทำให้งูกลายเป็นสัตว์ที่มนุษย์นับในความมีอำนาจนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองู ว่าเป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่ง ตามที่เห็นได้ในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน หรือบ้างก็ว่าเป็นสัตว์ที่พบในป่าหิมพานต์
ในหลายๆภูมิภาคทั่วทวีปเอเชีย ล้วนแต่มีความเชื่อในเรื่องของพญานาคกันทั้งนั้น และต่างมีชื่อเรียกพญานาคออกไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งการที่ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย ทำให้มีนิยายหลายเรื่องโดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ บอกเล่าถึงพญานาคด้วย เรื่องราวเล่าว่า พญานาคถือเป็นศัตรูของพญาครุฑ ส่วนพุทธประวัติก็มีตำนานเล่าถึงพญานาคไว้หลายเรื่องด้วยกัน โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแถบที่มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอย่างมากมาย ชาวบ้านมักมีความเชื่อกันว่า พญานาคจะอาศัยอยู่ในแถบแม่น้ำโขง หรืออยู่ในเมืองบาดาล เนื่องจากเชื่อกันว่า มีคนเคยพบร่องรอยพญานาคที่ปรากฎกายขึ้นในวันออกพรรษา โดยพบเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับรอยการเคลื่อนที่ของงูขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงมีความเชื่อกันว่า หากลงไปเล่นในแม่น้ำโขงจึงควรยกมือไหว้เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน
แต่ละภูมิภาคจะมีความเชื่อในลักษณะของพญานาคแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของพญานาคจะมีลักษณะเป็นงูตัวใหญ่ที่มีหงอนสีทอง ตาสีแดง และมีเกล็ดเหมือนปลา พญานาคจะมีสีหลายแตกต่างกันไปตามแต่บารมี บางคนอาจจะเคยพบพญานาคสีเขียว สีดำ หรือบ้างก็มี 7 สี แต่ที่สำคัญ ก็คือ นาคที่อยู่ในตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเพียงเศียรเดียว แต่ถ้าเป็นตระกูลที่สูงขึ้นไปจะมีเศียรที่มากกว่านั้น อาจจะเป็นสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียร หรือเก้าเศียร นาคพวกนี้มีเชื้อสายเดียวกับพญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร เล่ากันว่า อนันตนาคราชนั้นมีร่างกายที่ใหญ่โตและมีความยาวของลำตัวแบบไม่สิ้นสุด อนันตนาคราชมีศีรษะมากมายนับพัน ส่วนพญานาคนั้นสามารถเกิดได้ทั้งในน้ำและบนบก ซึ่งการกำเนิดของพญานาคนั้นมาจากครรภ์และไข่ แถมยังมีอิทธิฤทธิ์ในการบันดาลให้เกิดทั้งคุณและโทษได้อีกด้วย ในบางครั้ง นาคก็จะแปลงกายเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างงดงาม
ในตำนานของชาวตะวันตก จะถือว่าพญานาคเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายและกิเลสตัณหา ซึ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับชาวตะวันออก ที่ถือว่าสัตว์จำพวกพญานาค งูใหญ หรือมังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังอำนาจสูงส่ง ส่วนชาวฮินดูจะถือว่า พญานาคเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดกับองค์เทพ หรือเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ว่ากันว่า นาคถือเป็นเทพแห่งน้ำ หากนาคให้น้ำ 1 ตัว จะมีความหมายว่า ในปีนี้จะมีน้ำมากและเข้าท่วมไร่นาของประชาชนได้ แต่ถ้าปีไหนนาคให้น้ำ 7 ตัว จะมีความหมายว่าน้ำจะน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขของนาคกับปริมารของน้ำที่มีในแต่ละปีจะตรงข้ามกัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว แปลว่านาคได้กลืนเอาน้ำไว้
ตามที่กล่าวไปแล้วว่าพญานาค หรืองูใหญ่มีหงอน จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงความมีวาสนา และเป็นบันไดไปสู่สายรุ้งจักรวาล อีกทั้งยังเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์จากการบำเพ็ญเพียรภาวนา ตามหลักศาสนาพุทธ เราจะพบเห็นพญานาคเป็นรูปปั้นอยู่ตามหน้าโบสถ์ หรือตามบันไดที่ขึ้นไปสู่วัดต่างๆ อีกทั้งยังมีภาพเรื่องราวทางศาสนาพุทธที่บอกเล่าเรื่องราวของพญานาคไว้อีกมากมาย
พญานาคถือเป็นสัตว์แสนมหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ ได้แก่ คุณสมบัติการแปลงกาย มีอิทธิฤทธิ์ และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก พญานาคสามารถแปลงร่างเป็นคนได้เช่นกัน ดังในตำนานทางพุทธศาสนาในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ได้กล่าวถึงตอนที่พญานาคได้แปลงกายมาเป็นคนเพื่อขอบวชกับพระพุทธเจ้า
จะขอกล่าวถึงนาคตัวหนึ่งที่มีนามว่า ถลชะ หรือที่หมายความว่า เกิดบนบก นาคตัวนี้จะเนรมิตกายได้เพียงเฉพาะบนบกเท่านั้น ส่วนนาคที่มีนามว่า ชลซะ หรือที่หมายความว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เพียงเฉพาะในน้ำเท่านั้น ไม่ว่าพญานาคจะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่จะมีสภาวะ 5 อย่างที่จะต้องปรากฏกายเป็นงูใหญ่เช่นเดิมทุกครั้ง นั่นก็คือ ตอนเกิด ตอนลอกคราบ ตอนสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ตอนนอนหลับโดยไม่มีสติ และตอนตาย
พญานาคถือเป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถึง 64 ชนิด ซึ่งต้องคายพิษในทุกๆ 15 วัน พิศของพญานาคอันตรายเพียงพอที่จะคร่าชีวิตผู้อื่นได้ มีตำนานเล่าว่า สัตว์มีพิษ เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด เป็นต้น ล้วนได้รับพิษมาจากที่นาคคายทิ้งไว้ เมื่อสัตว์เหล่านี้ไปกินเข้าก็จะได้รับพิษตามไปด้วย โดยงูเป็นสัตว์ที่มาถึงก่อนจึงได้รับพิษไปมากที่สุด ส่วนพวกที่มาทีหลัง อย่างแมงป่อง กับ มด ก็ได้พิษน้อยลง
คนโบราณเชื่อกันว่า พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดินหรือใต้บาดาล จากที่มาในหนังสือไตรภูมิพระร่วง มีการกล่าวถึงพญานาคว่า สถานที่ที่พญานาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดินราว 1 โยชน์ หรือประมาณ 16 กิโลเมตร ที่นั่นมีปราสาทราชวังที่สวยสดงดงามไม่แพ้บนสวรรค์ และเรียงซ้อนกันถึง 7 ชั้น พญานาคสามารถผสมพันธุ์กับข้ามชนิดสัตว์ได้ หรืออาจจะแปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ก็ได้เช่นกัน เมื่อพญานาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่คล้ายๆกับงู ซึ่งพันธุ์ของพญานาคก็มีหลากหลายทั้งเศียรเดียว, 3 เศียร, 5 เศียร และ 7 เศียร
พญานาคมีทั้งความดีและความไม่ดีผสมผสานอยู่ในตัวเอง เชื่อกันว่า พญานาคเป็นสัตว์ที่สามารถเดินทางทะลุได้ทั้งบนโลก ใต้บาดาล และสรวงสวรรค์ ซึ่งในทุกๆตำนานมักจะกล่าวถึงการเดินทางของพญานาคระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองสวรรค์อยู่เสมอ พญานาคสามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ตามที่ใจคิด หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่พบเจอนั้นๆ จึงจะเห็นได้ว่า พญานาคมีประวัติความเป็นมาและถิ่นที่อยู่ที่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก ทำให้มนุษย์สามารถพบเจอกับพญานาคได้ในบางครั้งเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น