เอาล่ะ ขณิกสมาธิ เราคงไม่ต้องพูดถึงมาก หลายคนเรียกว่าทุกคน เคยสัมผัสมาแล้ว ก็เวลาที่คุณคิดแก้ปัญหาเรื่องใด เรื่องหนึ่งอยู่นั่นไงล่ะ หากจิตคุณไม่เกิดสมาธิขึ้น คุณก็จะไม่สามารถคิดแก้ปัญหานั้นออกได้ จะเห็นว่าช่วงเวลาที่เป็นสมาธิเพียงแว้บเดียวแล้วคิดออกนั่นแหละ คือ ขณิกสมาธิ มีองค์วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เป็นต้น เพียงชั่วขณะ
(จะเห็นว่าก่อนจะคิดออก เราจะต้องนึกถึงปัญหานั้นซ้ำๆๆๆ และตอนเราคิดออก จะเหมือนมีภาพฉายแว้บ.... แล้วเข้าใจปัญหาแก้ปัญหาได้ทันที และเราจะดีใจมาก:ปีติ มีความสุขมาก:สุข )
ทีนี้ อุปาจารสมาธิ เราก็มาดูกันว่า ทำมัยสมัยเด็กๆ เราทำได้ง่ายๆ เท่าที่วิเคราะห์-ศึกษาค้นคว้า และลองทดสอบแล้วพบว่า เราจะต้องวางตัววางใจดังนี้
1. จัดการปลิโพธะ เล็กๆ น้อยๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน ก็เช่น ตัดเล็บ ตัดผม อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งชุดสบาย อยู่ในสถานที่รื่นรมย์(อ๊ะๆ อย่าเข้าใจผิด คิดลึกนะคร้าบ รู้นะคิดอะไรอยู่ เหอะๆๆ) คือ ร่มรื่น สงบเงียบ เย็นสบาย ลมพัดหน่อยๆ มีลานหรือสถานที่นั่งสบายๆ กินข้าวอิ่ม ไม่เดือดร้อนการงานในภายหน้า ไม่กังวลเครียดอยู่กับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เป็นต้น (ก็คือ บรรยากาศของโรงเรียน บ้านนอกๆ กินข้าวเที่ยงแล้ว หล้างหน้าแปรงฟันแล้ว เสียงระฆังสัญญาณดัง ทุกคนก็เข้าแถว หน้าห้อง นึกถึงตอนนั้นแล้ว บรรยากาศดีจริงๆ เมื่อตอนนั่งสมาธิกัน โรงเรียนจะเงียบมากกกกกกกกก ใครจะดื้อจะซน เราไม่สน เพราะเราอยากเหาะได้ 555555555 แต่ก็เหาะไม่ได้ซักที)
2. สวดมนต์เล็กน้อย ตามกำลังอย่าให้มากเกินไป จนจิตใจเฝื่อน ประมาณ 5 นาทีพอ เอาแค่ นะโม 3 จบ อรหัง สัมมา, สวากขาโต, สุปฏิปันโน (อาจบูชาพระกรรมฐานก่อนก็ได้ แต่อย่าให้ยาวนัก) แล้วก็เริ่มเลย
3. อย่าสนใจใคร หายใจเข้า พุธ หายใจออก โธ คิดอยู่แค่นั้นพอ อย่าสนอะไร สนแค่ พุท โธ ๆ ๆ ๆ ๆ ลมเข้า ลมออก ....... สบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งนะครับ
4. แรกๆ กำหนดเวลาแค่ 5 นาที 10 นาที พอที่ใจยังไม่ฟุ้ง ก็พอ (สมัยเรียน นั่งแค่ 5 นาทีเอง บางวันนานหน่อย 10 นาที อาจารย์ลืมตีระฆัง, ลืมดูเวลา ฯ) ลองเลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ จับนาฬิกาดูว่า ปกติเราจะฟุ้งภายในกี่นาที และค่อย ๆปรับให้นานขึ้น ๆ
5. แต่ต้องทำทุกวัน ถึงเวลาที่เคยนั่ง ต้องนั่ง ต้องกำหนดเวลาตายตัว ในช่วงที่สะดวกสุด ถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง
6. สุดท้าย อย่าลืมแผ่เมตตา สัพเพสัตตา ธรรมดาๆ นี่แหละ
7. ที่สำคัญ ได้ไม่ได้ อย่าซีเรียส ทำอย่างวัยรุ่นว่า ชิล ชิล ทำแบบเดะ ๆ เบสิก ๆ
8. หากได้อุปาจารสมาธิ เกิดปีติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ให้สังเกตอารมณ์ตอนนั้นไว้ แล้วพยายามทรงอารมณ์นั้นไว้เรื่อย ๆ ๆ ๆ อย่าคิดว่าจะเร่งให้เข้าสู่ระดับสมาธิที่สูงขึ้นไปเป็นอันขาด เดี๋ยวจะกลายเป็นอยาก นอกจากจะไม่ได้สมาธิระดับสูงขึ้นไปแล้ว ก็จะเสื่อมลงจากระดับนี้ พอเสื่อมหายไปก็อย่ากลุ้ม ตั้งต้นใหม่ เหมือนเริ่มตั้งแต่แรกพยายามทำอารมณ์ใจให้เหมือนเดิม
9. หากเคยได้อุปจารสมาธิในท่าทาง หรือที่นั่งใด ควรทำที่นั่นอีก จนถึงที่สุดแห่งฌาณ (4) : จากตำราพระวิสุทธิมรรค
ระดับ อัปปนาสมาธิ จะมี 4 ขั้น หรือ 5 ขั้นก็แล้วแต่จะแบ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความสมาธิเบื้องต้น จะเข้าอัปปนาสมาธิ ก็ต้องผ่านอุปจารสมาธิ ขึ้นมา เอาเป็นว่าหากท่านได้อุปจารสมาธิแล้ว ต้องการจะได้อัปปนาสมาธิ ลองทำอย่างนี้ดู
1. เริ่มที่ อุปาจารสมาธิ เกิดขึ้นแล้วก็วางใจในระดับนั้นไว้เรื่อยๆ และเฉยๆ ไว้ที่สุด เฉยกับอาการ ปีติ แต่ไม่ใช่ไปไล่ปีติออกไปนะครับ(ถ้าอย่างงั้นก็คือ จิตตกจากอุปาจารสมาธิซะแล้วววว คือ ถึงจะผ่านอุปาจาร เข้าสู่ปฐมฌานแต่ก็ยังมีปีติอยู่ ดูในบทความที่แล้ว ๆ มา) และก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ เฉย ๆ ไว้ นิ่งๆไว้ ทำแบบทองไม่รู้ร้อน ไม่รู้ไม่ชี้อ่ะครับ พอถึงระดับ ปฐมฌาน จะมีอาการนิ่ง ไม่วอกแวก ออกจากองค์ฌานทั้ง 4 เลย เรียกว่าจิตเข้าสู่ เอกคตาจิต ก็คือ จิตนิ่งนั่นเอง เหมือนน้ำในสระหลังบ้าน ที่สงบนิ่ง ยังไงยังงั้น ทำไปเรื่อย ๆ
2. หากอยู่ ๆ ไม่มีการภาวนาไปเฉยๆ ชาวบ้านเรียกลืม แต่ความจริงเรียกว่าละวิตก วิจารณ์ หรือเพิกวิตก วิจารณ์ นั่นคือ ทุติยฌาน แล้วจิตจะจับอยู่แค่ปีติ สุข และจิตนิ่ง และหากรู้สึกตัวว่าลืมภาวนาเมื่อไหร่ ว่าเอ๊ะนี่เราลืมภาวนา ตอนนั้นแหละ รู้ไว้เลยว่า จิตเผลอหลุดจาก ปฐมฌาน และทุติยฌานซะแล้ว (คือ ฌาน 1 - 3 ไม่มีอารมณ์คิด) ปล. จิตบางคนอาจกลับเข้าสู่ระดับเดิมได้เร็ว และช้าต่างกัน
แต่ก็ไม่ใช่ไปหยุดภาวนาเอาเองนะ ถ้าทำอย่างนั้น ก็เท่ากับใส่เกียร์ถอยหลัง ลงคลองไปเลย ถ้าจิตเฉยมีกำลังมากเข้า มันจะไปตัดตัววิตก วิจารณ์เอง โอเคมั้ยครับ
3. ต่อไปก็ทำเหมือนเดิมคือ เฉย ๆ กับปีติ เฉย ๆ กับสุข และนิ่ง ๆ เข้าไว้ พอกำลังเฉยมีมากเข้า นิ่ง ๆ มีมากเข้า จิตก็จะตัดปีติ ไปเอง คือกลายเป็นไม่สนใจปีติ อาการขนลุกขนพอง, น้ำตาไหล ฯ จะหายไปเอง นั่นคือเข้า ตติยฌาน เหลืออารมณ์สุข กับ เอกคตา ถึงจุดนี้ จะรู้สึกว่ากายแข็งทื่อ เหมือนเราอยู่ในเสื้อเกราะ จิตตัวในจะใส เริ่มสังเกตเห็นได้ และสุข อย่างเดียว นิ่งดิ่ง (ปล. การที่เรานึกคิดเช่นนั้นได้ว่า เอ๊ะ ทำไมตัวเราแข็ง นั่นหมายความว่า จิตเราถอนออกจากตติยฌานแล้ว ถึงได้งง สงสัย หากดึงจิตกลับ เลิกฟุ้งซ่านจะเข้าสู่จุดเดิมได้ โดยวางใจเช่นเดิม) คุณเคยขึ้นลิฟต์กันใช่มั้ยครับ เหมือนอย่างนั้นเลย จากฌาน 1 - 3 มันเร็วมาก เหมือนขึ้นลิฟต์ พอถึงชั้น 3 มันหยุด กิ๊ง อยู่อย่างนั้น ถึงขั้นนี้เหมือนเราอยู่ในลิฟ ประตูยังไม่เปิด จนกว่าจะถึงฌาน 4 แต่ก็ไม่อึดอัด เหมือนติดอยู่ในลิฟต์ค้างนะครับ จะสุขใจ ละมุนละมัย เห็นชัดว่าจิตแยกจากกายอยู่ "นี่กาย นี่จิต ก็รู้อยู่ เห็นอยู่" พระท่านว่าอย่างนั้น
4. เมื่อเราเฉยถึงที่สุด นิ่งถึงที่สุด ประตูลิฟต์จะเปิดตอนนี้แหละ อารมณ์สุข จะถูกเพิกเฉยไปเอง เหลือแต่อารมณ์นิ่งดิ่ง ๆ เฉย ๆ เรียกว่า จตุตถฌาน มีเพียงอุเบกขา และเอกคตาจิต จิตตอนนี้ประภัสสร สว่างโพลง ขาวไปหมด (ดังที่พระว่า "จิตเดิมแท้ประภัสสร" ) จิตไม่เกาะกายเนื้อแล้ว เวลาฝึกมโนเต็มกำลัง ก็เอาจิตดวงนี้แหละออกจากกายไปเมื่อจิตออกจากกาย ก็จะเกิดอาทิสมานกาย ขึ้น อาจมีรูปเหมือนเดิมก่อนออกเป๊ะ หรือมีกายเป็นเทวดา พรหม หรือเป็นดวงกลมก็แล้วแต่
เอาล่ะ เมื่อทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว อย่าเลิกง่ายๆ ทรงไว้ให้นานที่สุด เท่าที่จะคงได้ หากเสื่อมลงไป ก็พยายามใหม่ จนรู้สึกว่าฟุ้งแล้ว ก็พอ
ทีนี้อยากได้อีกก็อย่าลืม ทวนอารมณ์ใจ และการวางอารมณ์ใจ ของตัวเองว่าทำอย่างไร ถึงทำได้ ฯ อ้อ ที่พูดมาทั้งหมดนี่ ใช่ว่าผู้เขียนจะเป็นผู้ทรงฌานอะไร เพียงแต่เคยมีประสบการณ์ เป็นบ้างครั้ง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกครั้งนะครับ ถือว่าเล่าสู่เพื่อนนักปฏิบัติด้วยกันฟัง เป็นการแลกเปลี่ยนแชร์ประสบการณ์มากกว่าครับ
https://www.dek-d.com/board/view/1073053/
https://www.dek-d.com/board/view/1073053/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น